ชีวิตการประพันธ์ ของ ป. อินทรปาลิต

ด้วยความปรารถนาของ พันโท พระวิสิษฐพจนการ (อ่อน อินทรปาลิต) ผู้เป็นบิดา ที่จะให้บุตรชายได้เป็นนายทหารเหมือนอย่างตัวท่าน เมื่อนายปรีชา อินทรปาลิต ได้รับการศึกษาชั้นมัธยมต้นแล้ว จึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) ซึ่งขณะนั้นยังแยกเป็น โรงเรียนนายร้อยประถมและมัธยม เป็นนักเรียนร่วมรุ่นกับนายทหาร รุ่น 2474

แต่เนื่องจาก นายปรีชา อินทรปาลิต เป็นผู้มีนิสัยชอบความสนุกสนาน และรักชีวิตอิสระมาตั้งแต่เยาว์วัย จึงไม่อาจจะศึกษาต่อให้สำเร็จได้ ด้วยความเป็นผู้ชอบอ่านหนังสือ และได้มีโอกาสรู้จักกับนักประพันธ์ผู้ใหญ่หลายท่านในสมัยที่บิดาเป็นทั้งอาจารย์และบรรณาธิการหนังสือ "เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์" ทำให้มีใจรักการประพันธ์ และได้หัดเขียนเรื่องสั้น ๆ ตั้งแต่บัดนั้น เมื่อลาออกจากโรงเรียนแล้ว ได้เข้ารับราชการในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ต่อมาได้โอนไปอยู่กองทาง กรมโยธาเทศบาล ได้ใช้เวลาว่างเขียนหนังสืออยู่เสมอ และได้เคยส่งไปลงในหนังสือพิมพ์บางฉบับโดยมิได้รับผลประโยชน์ตอบแทน นอกจากความภูมิใจจากเรื่องสั้น ๆ กลายเป็นนวนิยายขนาดเล่มเดียวจบในสมัยนั้น เขียนแล้วเก็บไว้เป็นหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งพี่ ๆ น้อง ๆ ก็ได้อ่านกันทุกเรื่อง และทุกคนก็ลงความเห็นพ้องต้องกันว่าเรื่อง "นักเรียนนายร้อย" เป็นเรื่องที่เขียนได้ดีที่สุด อาจจะเป็นเพราะเจ้าตัวมีแรงบันดาลใจมากกว่าเรื่องอื่น ด้วยเลือดเข้มของนักเรียนนายร้อยยังซ่อนเร้นอยู่ในห้วงลึกของจิตใจ หาได้จืดจางไปตามกาลเวลาที่ผ่านไปไม่ ด้วยเรื่องสนับสนุนของวงศ์ญาติ นางไข่มุกด์ อินทรปาลิต ผู้เป็นภรรยา จึงได้นำต้นฉบับ "นักเรียนนายร้อย" ไปส่งยังสำนักพิมพ์เพลินจิต ของนายเวช กระตุฤกษ์ เจ้าของสำนักพิมพ์ได้รับไว้ด้วยความยินดี เมื่อพิมพ์ออกมาจำหน่ายปรากฏว่าหนังสือขายได้เป็นจำนวนสูงในเวลาอันรวดเร็ว และเป็นเรื่องที่กล่าวขวัญในหมู่นักอ่านทั่วไป นับว่า "นักเรียนนายร้อย" เป็นผู้มอบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในความเป็นนักประพันธ์ให้แก่ ป. อินทรปาลิต สำนักพิมพ์รีบส่งผู้แทนมาติดต่อขอซื้อเรื่องต่อไปโดยด่วน นับแต่นั้นเรื่อยมาเรื่องของ ป. อินทรปาลิต ก็ทะยอยออกสู่ตลาดเรื่อย ๆ สำนักพิมพ์อื่น ๆ ก็ติดต่อขอซื้อเรื่องอีกหลายต่อหลายแห่งด้วยกัน